นโยบายการกำกับดูแลกิจการ

บริษัท ซิงเกอร์ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) ตระหนักถึงความสำคัญของการกำกับดูแลกิจการที่ดี ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ และผลประโยชน์ระหว่างผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วนให้เป็นไปอย่างยั่งยืน และยังเป็นปัจจัยสำคัญปัจจัยหนึ่งที่จะทำให้บริษัทบรรลุถึงเป้าหมายในการดำเนินธุรกิจและสร้างการเติบโตให้บริษัทอย่างยั่งยืนต่อไปในระยะยาว

คณะกรรมการบริษัทได้กำหนดหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีของบริษัท เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินธุรกิจสำหรับ กรรมการ ผู้บริหารและพนักงานของบริษัท ทั้งนี้ กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานของบริษัททุกคน ได้รับทราบจรรยาบรรณและนโยบายกำกับดูแลกิจการที่ดี เพื่อเป็นการแสดงถึงเจตนารมณ์ร่วมกันในการยึดถือปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด

นอกจากนี้บริษัทยังมีการเผยแพร่และสื่อสารให้ทุกคนในองค์กร ผ่านการปฐมนิเทศพนักงานใหม่ วารสารภายในบริษัท การประชุมผู้บริหารพบพนักงานประจำเดือน แผ่นป้ายประชาสัมพันธ์ ตลอดจนเว็บไซต์และการจัดกิจกรรมของบริษัท เพื่อเสริมสร้างความตระหนัก และการมีส่วนร่วมของบุคลากรทั่วองค์กรอย่างต่อเนื่อง

นโยบายการกำกับกิจการที่ดี
1. สิทธิของผู้ถือหุ้น

คณะกรรมการบริษัทให้ความสำคัญในการดูแล และรักษาสิทธิของผู้ถือหุ้นทุกรายดังนี้

  1. ให้ข้อมูลที่สำคัญและจำเป็นสำหรับผู้ถือหุ้นเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจอย่างชัดเจน และมีความถูกต้องเพียงพอ ทันต่อเหตุการณ์เท่าเทียมกัน เพื่อประกอบการตัดสินใจในการประชุมผู้ถือหุ้น
  2. ผู้ถือหุ้นทุกรายได้รับข้อมูลประกอบการประชุมที่มีรายละเอียดครบถ้วน เพียงพอ รวมทั้งมีความเห็นของคณะกรรมการบริษัทในทุกวาระเป็นการล่วงหน้าก่อนวันประชุมผู้ถือหุ้นไม่น้อยกว่า 14 วัน เกินกว่าระยะเวลาที่กำหนดไว้ตามกฎหมาย อีกทั้งบริษัทได้มีการเผยแพร่ข้อมูลบนเว็บไซต์ของบริษัท ในเรื่องขอเชิญให้ผู้ถือหุ้นเสนอวาระการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นล่วงหน้า โดยมีหลักเกณฑ์ตามที่บริษัทกำหนด และเผยแพร่ข้อมูลประกอบวาระการประชุมผู้ถือหุ้นก่อนการจัดส่งเอกสาร เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นมีเวลาศึกษาข้อมูลดังกล่าวได้อย่างละเอียด
  3. ในกรณีที่ผู้ถือหุ้นไม่สามารถเข้าร่วมประชุมด้วยตนเอง ทางบริษัทเปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นสามารถมอบฉันทะให้กรรมการอิสระหรือบุคคลอื่นเข้าร่วมประชุมแทนตน และลงมติแทนได้ โดยใช้หนังสือมอบฉันทะที่ได้จัดส่งไปพร้อมหนังสือนัดประชุม โดยบริษัทได้จัดทำหนังสือมอบฉันทะในรูปแบบที่ผู้ถือหุ้นสามารถกำหนดทิศทางการออกเสียงลงคะแนนได้ตามแบบที่กระทรวงพาณิชย์กำหนด และผู้ถือหุ้นยังสามารถดาวน์โหลดแบบหนังสือมอบฉันทะผ่านเว็บไซต์ของบริษัทได้ และบริษัทยังได้จัดให้มีอากรแสตมป์ไว้บริการผู้ถือหุ้นสำหรับปิดหนังสือมอบฉันทะอีกด้วย บริษัทยังให้สิทธิแก่ผู้ถือหุ้นที่เข้าร่วมประชุมภายหลังจากประชุมภายหลังประธานในที่ประชุมเปิดการประชุมแล้ว สามารถออกเสียงลงคะแนนได้ในวาระที่อยู่ระหว่างการพิจารณา และยังไม่ได้มีการลงมติ และนับเป็นองค์ประชุมตั้งแต่วาระที่ได้เข้าประชุมเป็นต้นไป เว้นแต่ที่ประชุมผู้ถือหุ้นจะมีความเห็นเป็นอย่างอื่น
  4. ก่อนวันประชุมผู้ถือหุ้น บริษัทเปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นรายเดียวหรือหลายรายที่ถือหุ้นนับรวมกันได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 4 ของจำนวนหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงทั้งหมดของบริษัท มีสิทธิที่จะเสนอวาระในการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2561 และ/หรือเสนอรายชื่อบุคคลที่มีคุณสมบัติเหมาะสมเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่บริษัทกำหนดเพื่อเข้าเลือกตั้งเป็นกรรมการ โดยบริษัทเปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นเสนอวาระและเสนอรายชื่อเพื่อเข้ารับการเลือกตั้งล่วงหน้าตั้งแต่วันที่ 22 กันยายน 2560 - วันที่ 31 ธันวาคม 2560
  5. ในปี 2560 บริษัทได้จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปีผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 50 ในวันที่ 21 เมษายน 2560 โดยบริษัทได้พิจารณาเห็นสมควรให้จัดประชุมประจำปีผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 50 ณ ห้องประชุม ชั้น 30 อาคาร กสท โทรคมนาคม ถ.เจริญกรุง บางรัก กรุงเทพฯ เช่นเดียวกับในปี 2559 เนื่องจากสามารถรองรับจำนวนผู้ถือหุ้นที่ให้ความสนใจเข้าร่วมประชุมมากขึ้น ซึ่งมีระบบขนส่งมวลชนและสถานที่สำหรับจอดรถเพียงพอสำหรับผู้ถือหุ้น ทั้งนี้เพื่อำนวยความสะดวกให้ผู้ถือหุ้นสามารถเข้าร่วมประชุม และซักถามตลอดจนแสดงความคิดเห็นต่าง ๆ อยู่ภายในห้องประชุมเดียวกันทำให้การประชุมดำเนินไปอย่างราบรื่น และมีประสิทธิภาพ นอกจากนั้นบริษัทยังได้จัดแสดงผลิตภัณฑ์ของบริษัทให้ผู้ถือหุ้นได้รับทราบ และเปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นที่สนใจผลิตภัณฑ์ของบริษัท ซื้อในราคาพิเศษอีกด้วย
  6. ในวันประชุมผู้ถือหุ้น บริษัทจัดให้มีเจ้าหน้าที่ และเทคโนโลยีเหมาะสมและเพียงพอ เพื่ออำนวยความสะดวกในการตรวจสอบเอกสารผู้ถือหุ้นล่วงหน้า ก่อนการประชุมมากกว่า 1 ชม. และบริษัทได้จัดให้มีการลงทะเบียนโดยใช้ระบบบาร์โค้ด ที่แสดงถึงเลขทะเบียนของผู้ถือหุ้นแต่ละรายที่ได้จัดพิมพ์ไว้บนแบบลงทะเบียน และหนังสือมอบฉันทะ เพื่อให้ผู้ถือหุ้นได้รับความสะดวกในการประชุม และทำให้ขั้นตอนการลงทะเบียนเป็นไปอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ในการใช้สิทธิออกเสียงแต่ละวาระได้ใช้วิธีเก็บบัตรยืนยันลงคะแนนของผู้ถือหุ้นเฉพาะบัตรยืนยันการลงทะเบียนเสียงที่ไม่เห็นด้วย และงดออกเสียง เพื่อคำนวณหักออกจากผู้ที่มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนทั้งหมด และสำหรับวิธีการนับคะแนน บริษัทได้ใช้โปรแกรมการประชุมผู้ถือหุ้น เป็นเครื่องมือช่วยนับคะแนนเพื่อให้เกิดความถูกต้อง รวดเร็ว สามารถประกาศผลคะแนนได้ทันทีหลังจากจบการพิจารณาแต่ละวาระโดยเมื่อจบการประชุมผู้ถือหุ้นสามารถขอตรวจสอบรายละเอียดได้
  7. ในการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี จะมีกรรมการที่ครบรอบออกตามวาระจำนวน 1 ใน 3 ของจำนวนกรรมการทั้งหมด ซึ่งในแต่วาระเลือกตั้งกรรมการ ได้มีการชี้แจงให้ผู้ถือหุ้นทราบว่าตามข้อบังคับบริษัทในกรณีที่บุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นกรรมการมีจำนวนไม่เกินกว่าจำนวนกรรมการที่จะพึงมีได้ในการเลือกตั้งครั้งนั้น โดยบริษัทได้เปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นเสนอชื่อบุคคลให้เข้ารับการเลือกตั้ง ล่วงหน้า ตั้งแต่วันที่ 22 กันยายน 2560 - วันที่ 31 ธันวาคม 2560 และในวาระเลือกตั้งกรรมการได้มีการให้ผุู้ถือหุ้นลงคะแนนเสียงเลือกกรรมการเป็นรายบุคคล
  8. ในการประชุมผู้ถือหุ้นได้จัดสรรเวลาให้อย่างเหมาะสม และเปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นแสดงความเห็น ข้อเสนอแนะ หรือตั้งคำถามในวาระต่าง ๆ อย่างอิสระก่อนการลงมติในวาระใดด ๆ เพื่อให้ผู้ถือหุ้นรับทราบข้อมูลรายละเอียดในเรื่องดังกล่าวอย่างเพียงพอ ทั้งนี้ในวาระที่ผู้ถือหุ้นมีข้อสงสัยหรือข้อซักถาม ทางคณะกรรมการบริหารได้ตอบข้อซักถาม พร้อมทั้งได้เตรียมบุคลากรที่เกี่ยวข้องบันทึกประเด็นซักถามและข้อคิดเห็นที่สำคัญไว้ และเป็นผู้ให้คำตอบภายใต้ความรับผิดชอบของคณะกรรมการบริษัท
  9. กำหนดให้มีวาระเกี่ยวกับค่าตอบแทนของกรรมการบริษัท โดยมีการพิจารณาจากคณะกรรมการสรรหาและพิจารณาค่าตอบแทนเป็นผู้พิจารณาค่าตอบแทนของคณะกรรมการบริษัท ได้กำหนดค่าตอบแทนกรรมการไว้อย่างชัดเจน และโปร่งใส เพื่อชี้แจงให้ผู้ถือหุ้นได้ทราบจำนวนและประเภทของค่าตอบแทนที่กรรมการแต่ละคนได้รับ ซึ่งได้มีการชี้แจงอย่างละเอียดไว้ในหัวข้อ ค่าตอบแทนกรรมการบริษัท และผู้บริหารของบริษัท ประจำปี 2560 ของรายงานประจำปีนี้ด้วย
  10. ในการประชุมสามัญประจำปีผู้ถือหุ้นในปี 2560 บริษัทได้พิจารณาตามลำดับในระเบียบวาระที่ได้กำหนดไว้ในหนังสือนัดประชุมที่ได้ส่งให้ผู้ถือหุ้นล่วงหน้า โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงลำดับวาระดังกล่าว และไม่มีการขอให้ที่ประชุมพิจารณาเรื่องอื่นที่นอกเหนือไปจากที่กำหนดไว้ในหนังสือนัดประชุมผู้ถือหุ้นแต่อย่างใด
  11. หลังจากการประชุมสามัญประจำผู้ถือหุ้น และการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นเสร็จสิ้นทุกครั้ง เลขานุการบริษัทร่วมกับนางสาวมนัญญา ฐิตินัทวรรณ บริษัท ที่ปรึกษากฎหมาย ซีเอ็มที จำกัด ซึ่งเป็นที่ปรึกษากฎหมายอิสระของบริษัทเข้าร่วมประชุม และเป็นผู้มีหน้าที่จดบันทึกรายงานการประชุมอย่างชัดเจน และเป็นลายลักษณ์อักษร พร้อมทั้งมีการเผยแพร่ทางเว็บไซต์ของบริษัทภายใน 14 วัน นับจากวันประชุม และนำส่งสำเนารายงานการประชุมผู้ถือหุ้นให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ ภายในเวลาที่กำหนด มีการจัดทำรายงานการประชุมเสนอให้ที่ประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัทรับรองในวาระแรกของการประชุมครั้งถัดไป ทั้งนี้ ในการประชุมผู้ถือหุ้นในวาระที่มีการรับรองรายงานการประชุมครั้งที่ผ่านมา บริษัทได้เปิดกว้าง และขอให้ผู้ถือหุ้นสามารถแสดงความคิดเห็น ขอแก้ไขเพิ่มเติมรายงานการประชุมให้มีความละเอียดถูกต้องมากที่สุดได้ รายงานการประชุมที่ที่ประชุมรับรองแล้วจะถูกจัดเก็บอย่างเป็นระบบในรูปแบบของเอกสารของบริษัท ณ สำนักงานเลขานุการบริษัท และจัดเก็บนรูปแบบเอกสารอิเล็กทรอนิกส์พร้อมกับเอกสารประกอบวาระการประชุมต่าง ๆ เพื่อสะดวกในการสืบค้นอ้างอิง

บริษัทได้มีการดำเนินการให้ผู้ถือหุ้น ทุกราย ทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ผู้ถือหุ้นส่วนน้อย นักลงทุนสถาบัน ได้รับข้อมูลของบริษัทที่ถูกต้อง เพียงพอ ทันเวลา และเท่าเทียมกันอย่างแท้จริง ดังนี้

การกำหนดให้กรรมการอิสระเป็นผู้มีหน้าที่ดูแลผู้ถือหุ้นส่วนน้อย

ผู้ถือหุ้นส่วนน้อยสามารถเสนอแนะ แสดงความคิดเห็น หรือแจ้งข้อร้องเรียนไปยังกรรมการอิสระ ผ่าน e-mail: chank@singerthai.co.th ซึ่งเป็นอีเมล์โดยตรงของเลขานุการบริษัท และรายงานตรงต่อกรรมการอิสระ ซึ่งจะเป็นผู้พิจารณาดำเนินการให้เหมาะสมในแต่ละเรื่อง เช่น หากเป็น ข้อร้องเรียน กรรมการอิสระจะดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง และหาวิธีการเยียวยาที่เหมาะสม หรือกรณีเป็นข้อเสนอแนะที่กรรมการอิสระพิจารณาแล้วมีความเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญที่มีผลต่อผู้มีส่วนได้เสียโดยรวมหรือมีผลต่อการประกอบธุรกิจของบริษัท กรรมการอิสระจะเสนอเรื่องดังกล่าวต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทเพื่อพิจารณากำหนดเป็นวาระการประชุมในการประชุมผู้ถือหุ้น

อีกทั้ง บริษัทกำหนดหลักเกณฑ์การให้สิทธิผู้ถือหุ้นส่วนน้อยเสนอวาระการประชุม และ/หรือชื่อบุคคลเพื่อแต่งตั้งเป็นกรรมการล่วงหน้าให้คณะกรรมการอิสระ พิจารณากำหนดเป็นระเบียบวาระการประชุมสามัญผู้ถือหุ้น เพื่อให้โอกาสผู้ถือหุ้น มีส่วนร่วมในการกำกับดูแลบริษัท และคัดสรรบุคคลที่มีคุณสมบัติเหมาะสม และปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพเพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้ถือหุ้น และผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายโดยให้สิทธิผู้ถือหุ้น ท่านเดียวหรือหลายท่านที่มีหุ้นรวมกันไม่น้อยกว่า ร้อยละ 4 ของจำนวนหุ้นที่ออกจำหน่ายแล้วทั้งหมด เสนอวาระการประชุมหรือเสนอรายชื่อบุคคลที่มีความเหมาะสมเข้าดำรงตำแหน่งกรรมการบริษัท ก่อนการประชุมสามัญประจำปีผู้ถือหุ้น โดยบริษัทให้เวลาในการเสนอวาระไม่น้อยกว่า 3 เดือน ก่อนวันสิ้นสุดรอบปีบัญชี

สำหรับการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2560 บริษัทได้นำหลักเกณฑ์ดังกล่าวเผยแพร่บนเว็บไซต์ของบริษัท พร้อมทั้งได้แจ้งไปกับหนังสือเชิญประชุมผู้ถือหุ้น โดยมีระยะเวลาตามที่กล่าวไปแล้วนั้น อย่างไรก็ตาม ไม่มีผู้ถือหุ้นเสนอวาระการประชุมและไม่มีการเสนอชื่อบุคคลสมัครเป็นกรรมการในระยะเวลาดังกล่าว

การป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์

คณะกรรมการบริษัทได้กำหนดนโยบาย และการดำเนินการต่าง ๆดังนี้

  • บริษัทมีโครงสร้างการถือหุ้นที่ชัดเจน โปร่งใส ไม่มีการถือหุ้นไขว้กับผู้ถือหุ้นรายใหญ่ จึงไม่ทำให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ให้แก่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง โดยได้เปิดเผยโครงสร้างการถือหุ้นของบริษัท และบริษัทย่อยไว้ในรายงานประจำปีอย่างละเอียด รวมถึงการเปิดเผยการถือหลักทรัพย์ของคณะกรรมการบริษัทอย่างครบถ้วน
  • มีการแบ่งแยกหน้าที่ความรับผิดชอบอย่างชัดเจนระหว่างคณะกรรมการบริษัท ฝ่ายบริหาร และผู้ถือหุ้น จึงทำให้ปราศจากการก้าวก่ายหน้าที่ความรับผิดชอบในระหว่างแต่ละกลุ่ม ในกรณีที่กรรมการบริษัทหรือผู้บริหารคนหนึ่งมีส่วนได้เสียกับผลประโยชน์ในเรื่องที่กำลังพิจารณา ผู้มีส่วนได้เสียนั้นก็จะไม่เข้าร่วมประชุมหรืองดออกเสียงเพื่อให้การตัดสินใจของคณะกรรมการบริษัทและผู้บริหารเป็นไปอย่างยุติธรรมเพื่อประโยชน์ของผู้ถือหุ้นอย่างแท้จริง
  • การกำหนดนโยบายการกำกับดูแล และการใช้ข้อมูลภายในไว้ในอำนาจดำเนินการ และข้อบังคับพนักงานอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร โดยมีบทกำหนดโทษชัดเจนกรณีที่ผู้บริหารหรือพนักงานนำข้อมูลภายในไปเปิดเผยต่อสาธารณะ หรือนำไปใช้ประโยชน์ส่วนตน

การดูแลเรื่องการใช้ข้อมูลภายใน

คณะกรรมการบริษัทได้กำหนดมาตรการการป้องกันการใช้ข้อมูลภายในโดยมิชอบ (Insider Trading) ของบุคคลที่เกี่ยวข้อง ซึ่งหมายถึงคณะกรรมการบริษัท คณะอนุกรรมการ คณะผู้บริหาร และพนักงานในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับข้อมูล รวมทั้งคู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะของบุคคลดังกล่าว ซึ่งสามารถดูรายละเอียดในหัวข้อ “การดูแลเรื่องการใช้ข้อมูลภายใน”

บริษัทมีการกำหนดเป็นนโยบายของบริษัทจะดำเนินธุรกิจ โดยยึดมั่นในความรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย เพื่อประโยชน์ร่วมกันอย่างยั่งยืน โดยคณะกรรมการบริษัทได้กำกับดูแลให้มีระบบการบริหารจัดการที่เชื่อมั่นได้ว่าสามารถรับรู้สิทธิของผู้มีส่วนได้เสียต่าง ๆ ทั้งที่ได้กำหนดไว้ในกฎหมาย และที่ได้กำหนดแนวทางไว้เป็นลายลักษณ์อักษรอย่างชัดเจนในหลักบรรษัทภิบาล และประมวลจริยธรรมทางธุรกิจ รวมทั้งรับผิดชอบดูแลให้มั่นใจได้ว่าสิทธิดังกล่าวได้รับการคุ้มครองและปฏิบัติด้วยความเสมอภาค อย่างเคร่งครัด ประกอบกับสภาวะทางสังคม สิ่งแวดล้อม และการดำเนินธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไป กลุ่มผู้มีส่วนได้เสียมีความซับซ้อนมากขึ้น และมีความคาดหวังสูงขึ้นในการที่จะได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรมและมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น การตัดสินใจและการดำเนินการในเรื่องที่มีผลกระทบ การปฏิบัติต่อผู้มีส่วนได้เสียจึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมากขึ้น โดยได้จัดกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียรวมทั้งสิ้นเป็น 12 กลุ่ม โดยมีแนวทางการปฏิบัติต่อผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มต่าง ๆ พอสรุปได้ดังนี้

  1. ผู้ถือหุ้น นอกจากสิทธิขั้นพื้นฐาน สิทธิที่กำหนดไว้ในกฎหมายและข้อบังคับบริษัท เช่น สิทธิในการขอตรวจสอบจำนวนหุ้น สิทธิในการได้รับใบหุ้น สิทธิในการเข้าประชุมผู้ถือหุ้น และออกเสียงลงคะแนน สิทธิในการแสดงความคิดเห็นอย่างอิสระในที่ประชุมผู้ถือหุ้น รวมถึงสิทธิที่จะได้รับผลตอบแทนอย่างเป็นธรรมแล้ว ยังได้ให้สิทธิผู้ถือหุ้นในการเสนอแนะข้อคิดเห็นต่าง ๆ เกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจของบริษัทในฐานะเจ้าของบริษัทผ่านกรรมการอิสระโดยทุก ๆ ข้อคิดเห็นจะได้รับการรวบรวมเพื่อเสนอให้คณะกรรมการบริษัทพิจารณา
  2. พนักงาน บริษัทให้ความสำคัญกับพนักงานโดยถือว่าเป็นทรัพยากรที่มีค่า และมุ่งมั่นที่จะให้พนักงานทุกคนมีความภาคภูมิใจ และเชื่อมั่นในองค์กร ในปีที่ผ่านมาบริษัทได้จัดทำโครงการต่าง ๆ เพื่อสนับสนุน และเสริมสร้างบรรยากาศการทำงานร่วมกันเพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ เสริมศักยภาพของพนักงานให้พร้อมสำหรับการปฏิบัติงาน นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับการรักษาสุขภาพ โดยบริษัทจัดให้พนักงานทุกระดับให้มีการตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี มาโดยตลอด ส่วนในด้านความปลอดภัย ได้มีการป้องกัน และระงับอัคคีภัย ในสถานประกอบการ เพื่อความปลอดภัยในการทำงานของพนักงาน โดยจัดให้มีการฝึกซ้อมดับเพลิงและฝึกซ้อมหนีไฟอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ทั้งที่อาคารสำนักงานใหญ่และคลังสินค้าเป็นประจำทุกปี นอกจานี้ทางบริษัท ได้จัดทำป้ายรณรงค์และประชาสัมพันธ์ เรื่องอุบัติเหตุเป็นศูนย์ เพื่อมุ่งเน้นการลดการเกิดอุบัติเหตุจากการทำงานให้เป็นศูนย์ และในปีที่ผ่านมาไม่มีการเกิดอุบัติเหตุจากการทำงาน รวมถึงได้มีการปรับปรุงภูมิทัศน์และสภาพแวดล้อมในการทำงานให้เหมาะสมกับการทำงาน อีกทั้งได้มีการส่งเสริมให้พนักงาน ได้รับความรู้ทางด้านสิ่งแวดล้อม โดยจัดให้มีการอบรมพนักงาน เพื่อให้เกิดความตระหนักและนำความรู้ที่ได้รับไปใช้เกิดประโยชน์ในชีวิตประจำวัน และการจัดกิจกรรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมหรือเข้าไปมีส่วนร่วมสนับสนุนกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง ในการอนุรักษ์แหล่งทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
  3. ลูกค้า บริษัทมีความมุ่งมั่นที่จะให้ผู้ใช้สินค้า และบริการได้รับประโยชน์สูงสุดทั้งด้านคุณภาพ และราคาตลอดจนมุ่งพัฒนา และรักษาสัมพันธภาพที่ยั่งยืน โดยบริษัทเลือกจำหน่ายสินค้าที่ได้รับใบอนุญาตมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หรือ มอก. รวมทั้ง บริษัทจัดให้มีศูนย์ให้บริการข้อมูลกลางทางโทรศัพท์ โดยเรียกว่า Call Center หมายเลขติดต่อ 0-2234-7171 ซึ่งเป็นหน่วยงานรับผิดชอบในการใช้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับสินค้าและบริการ ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับวิธีการแก้ปัญหา และรับข้อร้องเรียน เพื่อให้ลูกค้าได้รับความพึงพอใจมากที่สุดในสินค้า และบริการ รวมทั้งได้มีการจัดตั้ง ศูนย์บริการซิงเกอร์เซอร์วิส สายด่วน หมายเลขโทรศัพท์ 0-818-404-555 เพื่อให้บริการโดยตรงในการแจ้งซ่อมสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าให้แก่ลูกค้าอีกด้วย
  4. คู่ค้า บริษัทปฏิบัติตามกรอบการแข่งขันทางการค้าที่สุจริต โดยยึดถือการปฏิบัติตามสัญญา จรรยาบรรณและคำมั่นที่ให้ไว้กับคู่ค้าอย่างเคร่งครัด ซึ่งได้กำหนดแนวทางปฏิบัติไว้เป็นลายลักษณ์อักษร ในนโยบายการกำกับดูแลกิจการที่ดี
  5. คู่ธุรกิจ บริษัทมีนโยบายในการดูแลคู่ธุรกิจทั้งในเรื่องสภาพแวดล้อม ความปลอดภัยในการทำงาน และผลตอบแทนที่จะได้รับนอกจากนี้ ยังส่งเสริมการพัฒนาขีดความสามารถ และพัฒนาความรู้ทั้งในงาน และนอกงานของคู่ธุรกิจให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
  6. ผู้ร่วมลงทุน บริษัทเคารพซึ่งสิทธิของผู้ร่วมทุน และปฏิบัติต่อผู้ร่วมทุนทุกรายอย่างเป็นธรรม รวมทั้งให้ความร่วมมืออย่างดีกับผู้ร่วมทุน ทั้งนี้เพื่อให้การดำเนินงานของกิจการร่วมทุนประสบผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ของกิจการร่วมทุน
  7. เจ้าหนี้ บริษัทได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขการกู้ยืมเงินตามข้อตกลง และหน้าที่ที่พึงมีต่อเจ้าหนี้ เช่น เจ้าหนี้ทางธุรกิจ และเจ้าหนี้ทางการเงินซึ่งได้กำหนดแนวทางปฏิบัติไว้เป็นลายลักษณ์อักษร ในนโยบายการกำกับดูแลกิจการที่ดี ณ ปัจจุบัน บริษัทได้ปฏิบัติต่อเจ้าหน้าที่ทุกรายอย่างเสมอภาค ไม่มีการค้ำประกันใดๆ ให้กับเจ้าหนี้รายใด รายหนึ่งโดยเฉพาะ นอกจากมีการค้ำประกันในหุ้นกู้ของ บริษัท เอสจี แคปปิตอล จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อย โดย บริษัท ซิงเกอร์ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) ถือหุ้นร้อยละ 99.99
  8. ด้านสังคมและชุมชน บริษัทดำเนินธุรกิจอย่างมีคุณธรรมต่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย และถือมั่นในอุดมการณ์การดำเนินธุรกิจที่รับผิดชอบต่อสังคม เพื่อให้เกิดการพัฒนาชุมชนและสังคม โดยมุ่งสนับสนุนกิจกรรมเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต และเสริมสร้างประโยชน์สุขของชุมชนและสังคมด้วยการ สร้างสรรค์กิจกรรมเพื่อสังคมในด้านต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาและส่งเสริมศักยภาพของเยาวชนและกลุ่มแม่บ้าน ทางด้านการสร้างงาน สร้างอาชีพ รวมทั้งทางด้านการศึกษา อีกทั้งยังส่งเสริมให้พนักงานของบริษัท มีส่วนร่วมในการปฏิบัติตนเป็นพลเมืองดีที่ทำประโยชน์ให้กับชุมชนและสังคม โดยผ่าน CSR Club by Singer
  9. หน่วยงานราชการ บริษัทให้ความสำคัญกับหน่วยงานราชการในฐานะผู้มีส่วนได้เสีย โดยได้กำหนดแนวปฏิบัติ เพื่อให้พนักงานดำเนินการอย่างถูกต้อง และเหมาะสม รวมถึงการให้ความร่วมมือกับหน่วยงานราชการ และการสนับสนุนกิจกรรมต่าง ๆ
  10. สื่อมวลชน บริษัทให้ความสำคัญกับการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารแก่สื่อมวลชน เพื่อให้สามารถสื่อสารต่อไปยังสาธารณชนได้อย่างถูกต้องและรวดเร็วทันต่อเหตุการณ์
  11. คู่แข่ง บริษัทปฏิบัติตามกรอบการแข่งขันทางการค้าที่สุจริต โดยยึดมั่นในการดำเนินธุรกิจด้วยความเป็นธรรมภายใต้กรอบของกฎหมายและประมวลจริยธรรมทางธุรกิจของบริษัท โดยในปีที่ผ่านมาบริษัทไม่มีข้อพิพาทใดๆ ในเรื่องที่เกี่ยวกับคู่แข่งทางการค้า
  12. ด้านสิ่งแวดล้อม บริษัทดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยได้ตระหนักถึงความสำคัญของการประหยัดพลังงาน การรักษาสิ่งแวดล้อม และได้มีการรณรงค์ให้มีการใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพสูงสุด บริษัทได้พัฒนาอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นสินค้าที่บริษัทจำหน่ายจึงเป็นสินค้าที่มีฉลากประหยัดไฟเบอร์ 5 ยิ่งไปกว่านั้น ตู้เย็นของซิงเกอร์ได้พัฒนาอีกขั้นโดยใช้น้ำยาทำความเย็นที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมและไม่ทำลายชั้นบรรยากาศของโลก “ NON CFC” คือสาร C – Pentanc ซึ่งมีค่าในการทำลายโอโซนเป็นศูนย์

อีกทั้ง บริษัทได้ปลูกจิตสำนึก และส่งเสริมให้พนักงานมีความรู้ และมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม รวมถึงการฟื้นฟู และปรับปรุงทรัพยากรธรรมชาติ โดยผ่านกิจกรรมต่างๆ ที่บริษัทจัดขึ้น ซึ่งสามารถดูรายละเอียดในหัวข้อ “ความรับผิดชอบต่อสังคม”

นโยบายและแนวปฏิบัติด้านทรัพย์สินทางปัญญา

บริษัท ดำเนินธุรกิจและส่งเสริมให้บุคลากรปฏิบัติหน้าที่ภายใต้กฎหมายหรือข้อกำหนดที่เกี่ยวกับสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา ไม่ว่าจะเป็นเครื่องหมายการค้า สิทธิบัตร ลิขสิทธิ์ ความลับทางการค้า และทรัพย์สินทางปัญญาด้านอื่นที่กฎหมายกำหนด เช่น การใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่มีลิขสิทธิ์ถูกต้อง โดยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ทุกชนิดจะต้องผ่านการตรวจสอบ และลงโปรแกรมโดยฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศและพัฒนาระบบ เท่านั้น ซึ่งนโยบายอันเกี่ยวกับ พรบ.ว่าด้วยการกระทำผิดทางคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ได้มีการประกาศเป็นคำเตือน และข้อห้ามไว้บนหน้า Desktop คอมพิวเตอร์ของพนักงานบริษัททุกคน นอกจากนี้บริษัทฯได้กำหนดให้พนักงานทุกคนรับทราบและลงนามในบันทึกข้อตกลงการ ไม่เปิดเผยข้อมูลที่เป็นความลับ การไม่กระทำผิดเกี่ยวกับพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ และการไม่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา โดยพนักงานใหม่จะลงนามพร้อมการลงนามในสัญญาว่าจ้าง

นโยบายและแนวปฏิบัติด้านเคารพกฏหมายและหลักสิทธิมนุษยชน

บริษัท สนับสนุนและเคารพการปกป้องสิทธิมนุษยชน ดูแลมิให้ธุรกิจของบริษัทเข้าไปมีส่วนร่วมเกี่ยวข้องกับการล่วงละเมิดสิทธิมนุษยชน เช่น ไม่สนับสนุนการบังคับใช้แรงงาน ต่อต้านการใช้แรงงานเด็ก ให้ความเคารพนับถือและปฏิบัติต่อผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายด้วยความเป็นธรรมบนพื้นฐานของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ โดยไม่เลือกปฏิบัติ ไม่แบ่งแยกถิ่นฐานกำเนิด เชื้อชาติ เพศ อายุ สีผิว ศาสนา สภาพร่างกาย ฐานะ ชาติตระกูล

การต่อต้านการทุจริตและทุจริตคอร์รับชั่น

ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ครั้งที่ 203 ซึ่งประชุมเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2557 มีมติอนุมัตินโยบายต่อต้านคอร์รัปชั่น พร้อมทั้งบริษัทยังได้มีการกำหนดเป็นนโยบายไว้ในคู่มือผู้บริหารบริษัท ประมวลจริยธรรมทางธุรกิจของบริษัท หนังสือนโยบายไม่ยอมให้มีการทุจริต (Zero Tolerance Policies) อีกทั้งบริษัทได้เข้าร่วมเป็นบริษัทที่ประกาศเจตนารมณ์เป็นแนวร่วมปฏิบัติ (Collective Action Coalition) ของภาคเอกชน ไทยในการต่อต้านการทุจริต กับทางสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) โดยบริษัทมีการประเมินความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการทุจริต การกำหนดนโยบาย จรรยาบรรณ เกี่ยวกับการต่อต้านการทุจริต จัดให้มีการสื่อสารนโยบายแนวทาง และการแจ้งเบาะแสกรณีเกี่ยวข้องหรือเห็นการทุจริต โดยจัดตั้งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ ภายในบริษัทขึ้นมา และได้ทำหนังสือแจ้งรายละเอียดเงื่อนไข นโยบาย ให้พนักงานทุกคนในองค์กรได้ลงนามรับทราบไปแล้ว

นโยบายและแนวปฏิบัติด้านการต่อต้านการทุจริตและทุจริตคอร์รัปชั่น

บริษัท มีช่องทางการสื่อสารให้ผู้มีส่วนได้เสียสามารถจะแจ้งแบะแส ข้อเสนอแนะ หรือข้อร้องเรียนกรณีเกี่ยวกับการทุจริต และมีแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการมอบหรือรับของกำนัล ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด การเลี้ยงรับรอง หรือค่าใช้จ่ายที่เกินขอบเขตจำกัด ซึ่งไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของบริษัท และแนวทางปฏิบัติด้านการจัดซื้อจัดจ้าง การให้เงินบริจาคที่ต้องดำเนินไปอย่างโปรงใส เป็นธรรม ภายใต้กฎระเบียบ และขั้นตอนปฏิบัติของบริษัท

ทั้งนี้ บริษัทได้มีการแจกระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของบริษัท ให้แก่ผู้บริหารทุกท่านและถ่ายทอดสู่พนักงานของบริษัททุกท่าน เพื่อทราบและลงนามรับทราบเพื่อถือเป็นระเบียบปฏิบัติอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะพนักงานฝ่ายขายและภาคสนาม เพื่อให้พนักงานบริษัททุกคนเข้าใจ และปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง

การแจ้งเบาะแสหรือข้อร้องเรียน

บริษัท มีการแต่งตั้งผู้บริหารของบริษัทเป็นผู้รับเรื่องร้องเรียนโดยตรง และมีคณะกรรมการร่วมในการตรวจสอบความถูกต้องอย่างเป็นธรรมกำหนดนโยบายการจัดให้มีระบบการควบคุมภายในที่มีประสิทธิภาพ มีการรายงานที่โปร่งใส และตรวจสอบได้ เพื่อให้ผู้ร้องทุกข์หรือผู้ร้องเรียนไว้วางใจ และเชื่อมั่นในกระบวนการสอบสวนที่เป็นธรรม รวมถึงการกำหนดนโยบายการคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแสเกี่ยวกับการทุจริต และสำหรับผู้ที่แจ้งแบะแสหรือข้อร้องเรียนที่เป็นพนักงาน ลูกค้า หรือบุคคลที่รับจ้างทำงานให้แก่บริษัท จะได้รับการคุ้มครองสิทธิตามกฎหมาย ซึ่งได้มีการกำหนดรายละเอียดไว้ในนโยบายการกำกับดูแลกิจการของบริษัทและนโยบายการรับข้อร้องเรียน (WHISTLE - BLOWER POLICY)

กรณีที่มีส่วนได้เสียกลุ่มต่างๆ มีข้อสงสัย หรือพบเห็นการกระทำที่สงสัยว่ามีการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ หรือประมวลจริยธรรมทางธุรกิจ สามารถแจ้งเบาะแสหรือร้องเรียน พร้อมส่งรายละเอียดหลักฐานต่างๆ ได้ที่ คณะกรรมการร่วมในการตรวจสอบความถูกต้องอย่างเป็นธรรมของบริษัท โดยคณะกรรมการร่วมในการตรวจสอบความถูกต้องอย่างเป็นธรรม จะดำเนินการสืบหาข้อเท็จจริง และมีการรายงานสรุปประเด็นสำคัญให้ผู้บริหารของบริษัท พิจารณารับทราบ สำหรับช่องทางในการติดต่อมีรายละเอียดดังนี้

คณะกรรมการร่วมในการตรวจสอบความถูกต้องอย่างเป็นธรรมของบริษัท

บริษัท ซิงเกอร์ประเทศไทย จำกัด (มหาชน)
ตู้ ปณ. 17 ที่ทำการไปรษณีย์บางรัก เขตบางรัก กทม 10500
e-mail : amnesty@singerthai.co.th

ทั้งนี้ ในปีที่ผ่านมา บริษัทไม่มีข้อพิพาทใดๆ ที่มีนัยสำคัญกับผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม

บริษัทกำหนดให้การเผยแพร่ข้อมูล และการสื่อสารขององค์กร เป็นหนึ่งในนโยบายหลักของบริษัท โดยได้จัดให้มีฝ่ายนักลงทุนสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร ซึ่งเป็นหน่วยงานที่จะเป็นตัวแทนบริษัท และเป็นสื่อกลางระหว่างฝ่ายจัดการในการสื่อสาร และเปิดเผยข้อมูล และยังให้ความสำคัญเรื่องการเปิดเผยสารสนเทศ เนื่องจากเป็นเรื่องที่มีผลกระทบต่อการตัดสินใจของผู้ลงทุนและผู้มีส่วนได้เสียจึงมีความจำเป็นที่ต้องมีการควบคุม และกำหนดมาตรการในการเปิดเผยสารสนเทศทั้งที่เป็นสารสนเทศทางการเงิน และที่ไม่ใช่ทางการเงินให้ถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด โดยมีสาระสำคัญครบถ้วนเพียงพอ เชื่อถือได้ และทันเวลา ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ โดยเปิดเผยข้อมูลสารสนเทศผ่านระบบ SET Community Portal ของตลาดหลักทรัพย์ฯ และเว็บไซต์ของบริษัท โดยยึดถือปฏิบัติตามกฎหมาย กฎเกณฑ์ ข้อบังคับต่างๆ ที่กำหนดโดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และหน่วยงานอื่นของรัฐ อย่างเคร่งครัด และติดตามการแก้ไขเปลี่ยนแปลงอยู่อย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้มั่นใจได้ว่ากฎหมายกฎเกณฑ์ข้อบังคับที่บริษัทถือปฏิบัตินั้นมีความถูกต้อง และเป็นหลักประกันให้ผู้ถือหุ้นเชื่อมั่นในการดำเนินธุรกิจที่โปร่งใสถูกต้องตรงไปตรงมา เช่น

  1. เปิดเผยข้อมูลการเงิน และข้อมูลที่มิใช่ข้อมูลการเงินอย่าง ถูกต้อง ครบถ้วน ทันเวลา
  2. จัดทำรายงานความรับผิดชอบของคณะกรรมการต่อรายงานทางการเงิน และแสดงไว้คู่กับรายงานผู้สอบบัญชีในรายงานประจำปี
  3. กำหนดนโยบายให้กรรมการและผู้บริหารต้องรายงานการมีส่วนได้เสียของตน และบุคคลที่มีความเกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการกิจการของบริษัท หรือบริษัทย่อยโดยมีหลักเกณฑ์และวิธีการรายงาน ดังนี้
    • รายงานเมื่อเข้าดำรงตำแหน่งกรรมการหรือผู้บริหารครั้งแรก
    • รายงานทุกครั้งเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลการมีส่วนได้เสีย
    • รายงานเป็นประจำทุกสิ้นปี
    • ในกรณีที่กรรมการพ้นจากตำแหน่ง และได้กลับเข้าดำรงตำแหน่งกรรมการใหม่โดยต่อเนื่อง กรรมการท่านนั้นไม่ต้องยื่นแบบรายงานใหม่หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลการมีส่วนได้เสีย
    • ให้กรรมการและผู้บริหารส่งแบบรายงานการมีส่วนได้เสียแก่เลขานุการบริษัท และเลขานุการบริษัทจะต้องส่งสำเนารายงานการมีส่วนได้เสียนี้ให้ประธานกรรมการ และประธานกรรมการตรวจสอบทราบภายใน 7 วันทำการนับแต่วันที่ได้รับรายงาน พร้อมทั้งในการประชุมคณะกรรมการบริษัททุกไตรมาส ได้มีการบรรจุวาระเรื่องรายงานการมีส่วนได้เสียในการประชุมคณะกรรมการบริษัททุกไตรมาส
  4. เปิดเผยวิธีการสรรหากรรมการ
  5. เปิดเผยข้อมูลการปฏิบัติหน้าที่ในคณะอนุกรรมการ และจำนวนครั้งการเข้าประชุมเป็นรายบุคคล
  6. เปิดเผยโครงสร้างการดำเนินงาน และการลงทุนในบริษัทย่อย และบริษัทร่วมอย่างชัดเจน
  7. เปิดเผยข้อมูลค่าตอบแทนที่กรรมการแต่ละคนได้รับจากการเป็นกรรมการในคณะอนุกรรมการเป็นรายบุคคล
  8. เปิดเผยนโยบายการจ่ายค่าตอบแทนแก่กรรมการและผู้บริหารระดับสูง รวมทั้งรูปแบบ ลักษณะ และจำนวนค่าตอบแทนที่กรรมการได้ รับจากการเป็นกรรมการในคณะอนุกรรมการชุดต่างๆ
  9. เปิดเผยนโยบายการดูแลสิ่งแวดล้อมและสังคม และผลการปฏิบัติตามนโยบาย
  10. รายงานนโยบายการกำกับดูแลกิจการ และผลการปฏิบัติงานตามนโยบาย
  11. เปิดเผยโครงการลงทุนที่สำคัญต่างๆ และผลกระทบที่มีต่อโครงการลงทุน โดยเปิดเผยข้อมูลสารสนเทศผ่านระบบ SET Community Portal ของตลาดหลักทรัพย์ฯ และเว็บไซต์ของบริษัท เพื่อให้ผู้ถือหุ้น นักลงทุน สื่อมวลชน และผู้เกี่ยวข้องได้รับทราบข้อมูลที่ถูกต้อง ทั่วถึง และโปร่งใส

และสืบเนื่องจากการที่บริษัทได้ให้ความสำคัญในเรื่องการเปิดเผยข้อมูล และความโปร่งใสเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญของการดำเนินธุรกิจ จึงเป็นผลให้ในปี 2554 และ 2555 บริษัท ซิงเกอร์ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) ได้รับรางวัล Set Awards 2011 และ 2012 “ บริษัทจดทะเบียนด้านนักลงทุนสัมพันธ์ยอดเยี่ยม ” (Best Investor Relations Awards) จากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย 2 ปีติดต่อกัน และสำหรับปี 2559 บริษัทได้รับรางวัลดีเด่น ด้านนักลงทุนสัมพันธ์ (Outstanding Investor Relation Awards) ในงาน Set Awards 2016 จากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

ฝ่ายงานนักลงทุนสัมพันธ์และสื่อสารองค์กรของบริษัท ได้ทำหน้าที่ติดต่อสื่อสารกับนักลงทุนสถาบัน นักลงทุนรายย่อย ผู้ถือหุ้น รวมทั้งนักวิเคราะห์ และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม โดยหากผู้ถือหุ้นต้องการข้อมูลเพิ่มเติมสามารถติดต่อโดยตรงที่ ฝ่ายงานนักลงทุนสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร e-mail : chank@singerthai.co.th หมายเลขโทรศัพท์ 0-2352-4777 ต่อ 4727 ซึ่งในปี 2560 ได้มีการจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้กรรมการผู้จัดการใหญ่ และกรรมการ ผู้อำนวยการฝ่ายบัญชีและการเงินได้พบปะกับนักลงทุนรายย่อย นักลงทุนสถาบัน และนักวิเคราะห์ อย่างสม่ำเสมอ โดยได้นำเสนอผลการดำเนินงานงบการเงิน ฐานะการเงิน คำอธิบายและวิเคราะห์ของฝ่ายจัดการ(Management Discussion & Analysis) และได้เข้าร่วมกิจกรรมบริษัทจดทะเบียนพบนักลงทุน (Opportunity Day) เพื่อนำเสนอข้อมูลผลประกอบการของบริษัท ตลอดจนแนวโน้มในอนาคตสรุปได้ดังนี้

  • จัดกิจกรรม เพื่อให้กรรมการผู้จัดการใหญ่ ได้พบปะนักลงทุนรายย่อย เพื่อชี้แจง สื่อสาร และสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง บนแนวทางการดำเนินธุรกิจ และข้อมูลทั่วไปของบริษัท
  • Company Visit ต่างๆ ตลอดจนการตอบข้อซักถามจาก นักวิเคราะห์ นักลงทุน โดยตรงผ่านทางอีเมล์และโทรศัพท์อย่างสม่ำเสมอ

คณะกรรมการบริษัทประกอบด้วยบุคคลซึ่งมีความรู้ความสามารถเป็นที่ยอมรับในระดับประเทศ เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการกำหนดนโยบายของบริษัท โดยร่วมกับผู้บริหารระดับสูงวางแผนการดำเนินงานทั้งระยะสั้น ระยะยาว ตลอดจนกำหนดนโยบายการเงิน การบริหารความเสี่ยง และภาพรวมขององค์กร มีบทบาทสำคัญในการกำกับดูแลตรวจสอบ และประเมินผลการดำเนินงานของบริษัท และผลการปฏิบัติงานของผู้บริหารระดับสูงให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้อย่างเป็นอิสระ

คณะกรรมการได้จัดให้บริษัทมีระบบการควบคุมภายใน การตรวจสอบภายใน รวมทั้งมีการติดตามการดำเนินการในเรื่องดังกล่าวอย่างสม่ำเสมอในการประชุมคณะกรรมการบริษัท

คณะกรรมการบริษัท ประกอบด้วยกรรมการที่มีประสบการณ์ในหลากหลายสาขาต่างๆ ของธุรกิจจำนวน 8 ท่าน โดยเป็นกรรมการตัวแทนที่มาจากผู้ถือหุ้นรายใหญ่ จำนวน 2 ท่าน กรรมการที่เป็นผู้บริหาร จำนวน 2 ท่าน และกรรมการที่เป็นอิสระ จำนวน 3 ท่าน บริษัทมีการถ่วงดุลของคณะกรรมการอย่างมีประสิทธิภาพ

สำหรับความเป็นอิสระในการบริหาร ประธานกรรมการบริษัทไม่เป็นบุคคลเดียวกันกับประธานคณะกรรมการบริหาร เพื่อเป็นการแบ่งแยกหน้าที่ในการกำหนดนโยบายการกำกับดูแล และการบริหารงานประจำประธานกรรมการบริษัท ไม่มีความสัมพันธ์ใดๆ กับฝ่ายจัดการ

เพื่อประสิทธิภาพในการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะกรรมการบริษัท ในนโยบายการกำกับดูแลกิจการที่ดีบริษัทได้กำหนดให้การดำรงตำแหน่งกรรมการในบริษัทจดทะเบียนอื่น ของกรรมการแต่ละท่านมีจำนวนไม่เกิน 5 บริษัท

คณะกรรมการบริษัท ได้กำหนดนโยบายในการดำรงตำแหน่งกรรมการในบริษัทอื่นของผู้บริหาร โดยกำหนดให้ก่อนที่ผู้บริหารท่านใด จะไปดำรงตำแหน่งกรรมการในบริษัทอื่นใด จะต้องแจ้งให้คณะกรรมการบริษัททราบเพื่อพิจารณาอนุมัติ ทั้งนี้ ต้องไม่เป็นกรรมการในบริษัท ที่ดำเนินธุรกิจสภาพอย่างเดียวกับบริษัทหรือเป็นการแข่งขันกับกิจการของบริษัท โดยปัจจุบันกรรมการผู้จัดการใหญ่ และผู้บริหารระดับสูงของบริษัทไม่ได้ดำรงตำแหน่งกรรมการในบริษัทจดทะเบียนอื่น และบริษัทอื่น ยกเว้นแต่บริษัทย่อยที่ทาง บมจ. ซิงเกอร์ประเทศไทย ถือหุ้นร้อยละ 99.99 เท่านั้น

บริษัทได้จัดให้มีขอบเขตอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการบริษัท และคณะอนุกรรมการชุดต่างๆ (Charter) เพื่อกำหนดหน้าที่และความรับผิดชอบต่างๆ และได้เปิดเผย (Charter) ดังกล่าวไว้ในเว็บไซต์ของบริษัทด้วย นอกจากนั้นคณะกรรมการ ได้มีการจัดทำแบบประเมินผลการปฏิบัติงานตนเองของคณะกรรมการบริษัททั้งคณะ โดยใช้แบบประเมินมาตรฐานที่ทางตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจัดทำขึ้น และได้มีการสรุปผลการประเมินในที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ให้กรรมการทุกท่านรับทราบ เพื่อจะได้นำผลการประเมินใช้เป็นแนวทางในการแก้ไขปรับปรุงต่อไป

คณะกรรมการบริษัทมีกำหนดการประชุมโดยปกติเป็นประจำทุกไตรมาส และมีการประชุมพิเศษเพิ่มตามความจำเป็น บริษัทมีการกำหนดวาระการประชุมที่ชัดเจน โดยเลขานุการบริษัทที่ดูแลรับผิดชอบจะจัดส่งหนังสือเชิญประชุมพร้อมทั้งเอกสารประกอบการประชุมให้คณะกรรมการล่วงหน้า กรรมการทุกท่านสามารถแสดงความเห็นได้อย่างเป็นอิสระและไม่ขึ้นกับบุคคลหรือกลุ่มบุคคลใด ในปี 2560 ที่ผ่านมาคณะกรรมการบริษัทมีการประชุมทั้งสิ้น จำนวน 5 ครั้ง โดยเป็นการประชุมที่กำหนดไว้ล่วงหน้าทั้งปี 4 ครั้ง และครั้งพิเศษ 1 ครั้ง ในการประชุมแต่ละครั้งได้มีการจัดส่งเอกสารประกอบวาระการประชุม ในแต่ละวาระส่งให้กับกรรมการบริษัทแต่ละท่านล่วงหน้าอย่างน้อย 3 - 5 วันทำการ เพื่อให้กรรมการบริษัทมีเวลาศึกษาข้อมูลในเรื่องต่างๆ อย่างเพียงพอ และบริษัทมีการประชุมผู้ถือหุ้นในปี 2560 จำนวน 1 ครั้ง (โดยการเข้าร่วมประชุมของคณะกรรมการบริษัทในปี 2560 ของกรรมการแต่ละท่าน ได้นำเสนออยู่ในหัวข้อ “โครงสร้างการจัดการ”)

ในการพิจารณาเรื่องต่างๆ ประธานกรรมการ ซึ่งทำหน้าที่ประธานในที่ประชุมได้เปิดโอกาสให้กรรมการแสดงความคิดเห็นได้อย่างอิสระ ทั้งนี้ การลงมติในที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทให้ถือมติของเสียงข้างมาก โดยให้กรรมการคนหนึ่งมีเสียงหนึ่งเสียงและกรรมการที่มีส่วนได้เสียจะไม่เข้าร่วมประชุม และ/หรือไม่ใช้สิทธิออกเสียงลงคะแนนในเรื่องนั้น หากคะแนนเสียงเท่ากันประธานในที่ประชุมจะออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งเสียงเป็นเสียงชี้ขาดในการประชุมคณะกรรมการบริษัท นอกจากนี้ คณะกรรมการบริษัทให้ความสำคัญ ในเรื่องรายการระหว่างกัน และเรื่องการจัดการเกี่ยวกับความขัดแย้งด้านผลประโยชน์ของผู้เกี่ยวข้องอย่างรอบคอบเป็นธรรม และโปร่งใส รวมทั้งมีการเปิดเผยข้อมูลในเรื่องดังกล่าวอย่างครบถ้วน ในกรณีที่กรรมการบริษัทคนหนึ่งคนใดมีส่วนได้เสียกับผลประโยชน์เกี่ยวกับเรื่องที่มีการพิจารณา กรรมการที่มีส่วนได้เสียจะต้องไม่มีส่วนร่วมในการตัดสินใจในเรื่องนั้นเมื่อสิ้นสุดการประชุม เลขานุการบริษัทร่วมกับบริษัท ที่ปรึกษากฎหมาย ซีเอ็มที จำกัด ซึ่งเป็นที่ปรึกษากฎหมายอิสระของบริษัทเข้าร่วมประชุมด้วยทุกครั้ง และเป็นผู้มีหน้าที่จดบันทึกรายงานการประชุมและความคิดเห็นของกรรมการอย่างชัดเจนและเป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อจัดทำรายงานการประชุมเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทรับรองในวาระแรกของการประชุมครั้งถัดไป และให้ประธานกรรมการบริษัทลงลายมือชื่อรับรองความถูกต้อง ทั้งนี้ กรรมการบริษัทสามารถแสดงความคิดเห็น ขอแก้ไขเพิ่มเติมรายงานการประชุมให้มีความละเอียดถูกต้องมากที่สุดได้ รายงานการประชุม ที่ประชุมรับรองแล้วจะถูกจัดเก็บอย่างเป็นระบบในรูปแบบของเอกสารชั้นความลับของบริษัท ณ สำนักงานเลขานุการบริษัท และจัดเก็บในรูปแบบเอกสารอิเล็กทรอนิกส์พร้อมกับเอกสารประกอบวาระการประชุมต่างๆ เพื่อสะดวกในการสืบค้นอ้างอิง

การพัฒนากรรมการและผู้บริหาร

คณะกรรมมีการส่งเสริมให้มีการฝึกอบรม และให้ความรู้แก่ผู้เกี่ยวข้องในระบบการกำกับดูแลกิจการของบริษัท เช่น กรรมการ กรรมการตรวจสอบ ผู้บริหาร เลขานุการบริษัท หน่วยงานตรวจสอบภายใน และผู้ประสานงานตลาดหลักทรัพย์ เป็นต้น เพื่อให้มีการปรับปรุงการปฏิบัติงานอย่างต่อเนื่อง และทำงานอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยเลขานุการบริษัทร่วมกับส่วนฝึกอบรมของบริษัท เป็นผู้จัดทำทะเบียนประวัติการเข้าร่วมอบรมของคณะกรรมการ และผู้บริหาร พร้อมทั้งนำเสนอหลักสูตรที่เหมาะสมต่อกรรมการแต่ละท่าน เพื่อพิจารณาเข้าร่วมอบรมและสัมมนา

การปฐมนิเทศกรรมการใหม่

คณะกรรมการบริษัทกำหนดให้ในกรณีที่บริษัทมีกรรมการเข้าใหม่ บริษัทมีนโยบายให้มีการจัดการปฐมนิเทศ รวมทั้งจัดเตรียมเอกสารและข้อมูลที่เป็นประโยชน์ เพื่อแนะนำลักษณะธุรกิจและแนวทางการดำเนินธุรกิจของบริษัท พร้อมทั้งจัดให้กรรมการใหม่มีการประชุมพบปะกับทางคณะกรรมการบริหาร และทีมผู้บริหารระดับสูง เพื่อรับทราบข้อมูล แนวทางปฏิบัติ ในส่วนของกรรมการบริษัทและข้อมูลของบริษัท รวมทั้งจัดให้มีการเข้าเยี่ยมชมคลังสินค้าและสาขาของบริษัท ก่อนที่กรรมการใหม่จะเข้าร่วมประชุมกับคณะกรรมการบริษัท บริษัทยังสนับสนุนให้กรรมการใหม่เข้ารับการอบรมหลักสูตรจาก สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการ